กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา รณรงค์เลือกซื้ออาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ สะอาดปลอดภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน แนะประชาชนหลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็มจัด พร้อมย้ำหลัก 3 ส. สุกเสมอ สะอาด และสงวนคุณค่า
นายแพทย์บุญแสง บุญอำนวยกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี การจำหน่ายสินค้า อาหาร ในตลาด คึกคักเป็นพิเศษ ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้าจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดปลอดภัย ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ขอแนะนำวิธีการเลือกซื้ออาหาร การปรุงประกอบอาหารให้สะอาด และการเลือกรับประทานอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดี ในช่วงตรุษจีน ดังนี้ การเลือกซื้อ เนื้อสัตว์ ไก่ เป็ด ควรเลือกที่สดใหม่ เนื้อแน่นสะอาด มีสีตามธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นเหม็น และเนื้อหมู ต้องไม่มี เม็ดสาคูหรือตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด เพื่อความปลอดภัย ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่ได้รับรองมาตรฐานว่าถูกสุขอนามัย ผักและผลไม้สด ควรเลือกตามฤดูกาล จะได้ผักและผลไม้สดใหม่มีคุณภาพ สังเกตที่เนื้อผักและผลไม้ ต้องแน่น สีสด เป็นธรรมชาติ ไม่เหี่ยวเฉา เน่าหรือช้ำ หรือขึ้นรา ไม่มีเศษดินหรือคราบสกปรก รวมทั้งคราบสีขาวของ ยาฆ่าแมลง ผักและผลไม้สดก็ต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้และมีเครื่องหมายรับรอง
ก่อนการปรุงอาหารต้องล้างวัตถุดิบทุกครั้ง โดยเฉพาะผักสด ผลไม้ ควรล้างผ่านน้ำสะอาด อย่างน้อย 2 นาที หรือใช้สารละลายอื่น ๆ ในการล้างหรือแช่นานประมาณ 5 นาที อาทิ เกลือ โซเดียมไบคาร์บอเนต น้ำส้มสายชู โซดา และน้ำยาล้างผัก เป็นต้น แล้วจึงนำผัก ผลไม้ มาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง จะช่วยลดหรือขจัดสารพิษได้มาก
นพ.บุญแสง กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรุงประกอบอาหาร ควรยึดหลักสำคัญ 3 ส.คือ 1. สุกเสมอ การปรุงอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ควรปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง ไม่ปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ อาหารที่เหลือจากการรับประทานควรเก็บเข้าตู้เย็น ก่อนรับประทานต้องนำมาอุ่นให้สุกทุกครั้ง 2. สะอาด ปลอดภัย คือ ปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ มีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี เช่น ล้างมือก่อนสัมผัสอาหารทุกครั้ง ระวังไม่ให้อาหารดิบสัมผัสกับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว มีการแยกใช้มีดและเขียงระหว่างอาหารดิบและอาหารสุก ใช้เครื่องปรุงรสที่มีเครื่องหมายรับรอง (อย.) ในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกใช้ภาชนะที่ถูกสุขลักษณะทำจากวัสดุไม่เป็นพิษ มีการล้างทำความสะอาดถูกต้อง มีสุขนิสัยที่ดีในการปรุงประกอบที่อาหาร 3. สงวนคุณค่า คือ ปรุงอาหารโดยสงวนคุณค่าทางโภชนาการ เช่น นึ่งผัก/ลวกผักก่อนจะนำมาผัด หรือผ่านความร้อนด้วยเวลาสั้น สำหรับ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยการต้ม นึ่ง อบ แทนการผัดหรือทอด ด้วยน้ำมันมากๆ และเพื่อสุขภาพที่ดี ควรเลี่ยงการรับประทานหนังไก่ เนื้อสัตว์ติดมัน ลดอาหารหวาน มัน เค็มจัด เพิ่มผักครึ่งหนึ่งในอาหารแต่ละมื้อ และรับประทานผลไม้ที่หวานน้อย อย่างน้อย 5 ส่วนต่อวัน เช่น ส้ม1 ผล = 1 ส่วน ชมพู่1 ผล = 1 ส่วน กล้วยน้ำว้า1 ผล = 1 ส่วน มะละกอ 5-6 ชิ้น = 1 ส่วน สำหรับผู้ที่ชอบรับประทานขนมเซ่นไหว้ เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ควรรับประทานอย่างพอดี เพราะหากรับประทานมากเกินไป พลังงานที่ใช้ไม่หมดจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย ส่งผลให้มีน้ำหนักเกิน อ้วน และเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา ที่สำคัญ ! ควรหาเวลาออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เพื่อเผาผลาญอาหาร ป้องกันโรคอ้วน และสร้างภูมิต้านทานโรคอีกด้วย นพ.บุญแสง กล่าวในที่สุด