คุณกำลังมองหาอะไร?

รมอนามัย ชี้กินเค็มเกินไป เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ไต หัวใจและหลอดเลือดสมอง เชิญชวนประชาชน ลดเค็ม ลดโรค

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

04.10.2563
29
0
แชร์
04
ตุลาคม
2563

กรมอนามัย ชี้กินเค็มเกินไป เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ไต หัวใจและหลอดเลือดสมอง

เชิญชวนประชาชน ลดเค็ม ลดโรค

กรมอนามัย โดยศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ชี้อันตราย กินเค็มมากเกินไป เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ไต หัวใจและหลอดเลือดสมอง  เชิญชวนประชาชนลดกินเค็ม ลดโรค ในโอกาสสัปดาห์ลดการกินเค็ม วันที่ 10 - 16 มีนาคม 2557

นพ.บุญแสง บุญอำนวยกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา เปิดเผยว่า จากสถิติปัญหาสุขภาพของคนไทยในปัจจุบัน พบว่า มีการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น สถิติปี 2554 พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 21.4 หรือ 11.5 ล้านคน โรคไต ร้อยละ 17.5 หรือ 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 1.4 หรือ 7 แสน 5 หมื่นคน โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์  อัมพาต  ร้อยละ 1.1 หรือ 5 แสนคน ข้อมูลในเขต 12 ปี 2555 พบว่า ประชาชนป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ร้อยละ 12.14  โรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมบริโภคที่ไม่ถูกต้อง กินอาหารรสเค็มจัด  และยังได้รับโซเดียมจากการกินอาหารในแต่ละมื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมักอยู่ในอาหารแปรรูป และจากเครื่องปรุงรส ซึ่งนิยมกันมาก ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ้วขาว เกลือ กะปิ และซอสปรุงรสต่างๆ  ซึ่งจากการสำรวจการบริโภคเกลือโซเดียมคลอไรด์ ปี 2550  โดยสำนักโภชนาการ  กรมอนามัย พบว่า คนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินที่แนะนำ 2 เท่า โดยบริโภคเกลือวันละ 2 ช้อนชา นอกจากนี้ ข้อมูลจากการศึกษาการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ของพื้นที่เขต 12 ในปี 2554 พบว่า ส่วนใหญ่บริโภคเกลือในปริมาณ 2 ช้อนชาต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 34.8   และบริโภคเกลือในปริมาณสูงสุด 3 ช้อนชาต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 18.0  การกินอาหารรสเค็มจัดเช่นนี้ จะทำให้ไตทำงานหนัก ในการขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ เพื่อรักษาสมดุล ซึ่งหากขับออกได้ไม่หมด โซเดียมจะคั่งและดึงน้ำไว้ในร่างกาย ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก เกิดปัญหาหลอดเลือดใหญ่เล็กทั่วร่างกายปรับตัวหนาและแข็งตามมา โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไต จะค่อยๆเสื่อม หากยังกินเค็มต่อเนื่อง ภายใน 5-10ปี หลอดเลือดไตจะเสื่อมสภาพอย่างถาวร เป็นไตวายเรื้อรัง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง

นพ.บุญแสง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้มีกิจกรรม “สัปดาห์ลดการกินเค็ม” (Low  salt  week)  ขึ้นในวันที่ 10 -16  มีนาคมของทุกปี  เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ กระตุ้นเตือนให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของการกินอาหารเค็มที่เหมาะสม มีพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง  โดยกรมอนามัย ได้มีสโลแกนที่ออกมาร่วมรณรงค์สร้างกระแสในปี 2557 คือ “ลดเค็ม = ลดโรค” โดยลดการกินเค็มลงครึ่งหนึ่ง ลดการเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงรสที่ให้รสเค็มเหลือเพียงครึ่งเดียว  ลดการกินอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก ไข่เค็ม ปลาเค็ม น้ำบูดู ผักดอง เต้าหู้ยี้  หรือ ขนมกรุบกรอบฯ เพราะมีโซเดียมสูง หลีกเลี่ยงอาหารจานด่วน เวลาสั่งอาหารนอกบ้านให้ย้ำเสมอจนเป็นนิสัยว่า “ไม่เค็ม” หรือ “ไม่ใส่ผงชูรส” อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียม ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อ หนึ่งหน่วยบริโภค รวมทั้ง ในแต่ละวัน ไม่ควร กินเกลือเกิน วันละ 1 ช้อนชา และที่สำคัญ ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่พึ่งครัวนอกบ้าน เช่น แกงถุง อาหารตามสั่ง มักซึ่งจะใช้เครื่องปรุงรสล้วนแต่มีสารโซเดียมผสมอยู่ทั้งสิ้น จึงขอให้ผู้ปรุงอาหารทั้งที่ทำกินเองและจำหน่าย ตระหนักถึงพิษภัยของการใช้เครื่องปรุงรส ลดปริมาณเกลือ ผงชูรส เครื่องปรุงรสต่างๆ ลง และปรุงอาหารรสชาติกลางๆ ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิต ถนอมไต ลดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง มีสุขภาพดี มีชีวิตที่ยืนยาว ปราศจากโรค

ในสัปดาห์ลดการกินเค็ม 10 – 16 มีนาคม 2557 ศูนย์อนามัยที่ 12 ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์ยะลา จัดรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน ผู้ป่วยและญาติ ในเรื่องอาหารลดหวาน มัน เค็ม  การสาธิตด้านโภชนาการ เมนูอาหารลดเค็ม  และการตรวจคัดกรองสุขภาพ และนิทรรศการ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ใน วันที่ 10 มีนาคม 2557 ตั้งแต่เวลา  09.00 – 12.00 น. ณ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา นพ.บุญแสง กล่าวในที่สุด

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน