คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การพูดคุยเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่น

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

04.10.2563
38
0
แชร์
04
ตุลาคม
2563

การพูดคุยเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่น

 

นางสาวอัญญา  จันทรัตน์

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา

 

 

ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก รวมทั้งสถาบันครอบครัวด้วย พ่อแม่ที่เฝ้าระวังดูแลลูกก็ยังไม่กล้าพูดคุยกับลูกในเรื่องเพศ อุปสรรคส่วนหนึ่งเกิดจาก ความรู้สึก พ่อแม่หลายคนรู้สึกขัดเขิน ที่จะคุยเรื่องเพศกับลูก ไม่มั่นใจในความรู้ที่มีอยู่ นอกจากนี้ไม่ทราบว่าจะพูดเรื่องเพศกับลูกได้แค่ไหน และกลัวจะเป็นดาบสองคมให้ลูกอยากลอง

 

วิธีขจัดความรู้สึกอึดอัดใจของพ่อแม่ ควรยอมรับในความลำบากใจของตนเอง และไม่ปล่อยให้ความลำบากใจเป็นอุปสรรคของการพูดคุย นอกจากนี้ให้คำนึงไว้เสมอว่า การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอในเรื่องเพศ จะช่วยให้วัยรุ่นปลอดจากการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อย่าลืมว่า “ท่าที” สำคัญกว่า “ความรู้” ท่าทีของพ่อแม่สำคัญกว่าเนื้อหาคำตอบ คือ มีท่าทีอบอุ่น ให้ลูกรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับเพศศึกษา

 

ถ้าลูกถาม ให้พูดกับลูกว่า “พ่อแม่ดีใจที่ลูกถาม” แต่ถ้าลูกไม่ถาม ให้ชวนลูกคุย อาจจะพูดเรื่องแฟน เรื่องธรรมชาติของร่างกาย เช่น การมีประจำเดือน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แล้วค่อยๆ รุกเข้าสู่เรื่องการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา จะมีประโยชน์ในการช่วยชะลอการมีเพศสัมพันธ์ แต่จะไม่เหมาะถ้าหมกมุ่นเกินไป ถ้ารู้สึกขัดเขินให้ใช้สื่อในการพูดคุย เช่นหนังสือ บทความต่างๆ เป็นต้น

 

วัยที่พร้อมต่อการพูดคุยเรื่องเพศ ไม่มีวัยที่เด็กเกินกว่าจะมีการถามและการตอบเรื่องเพศระหว่างการพูดคุยของพ่อแม่กับลูก ให้คำตอบที่เหมาะแก่วัย อย่างน้อยวัยรุ่นควรรู้ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย รู้ทันการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของตนเอง เช่น ฮอร์โมนหนุ่มสาวจะทำให้สนใจเพศตรงข้าม แต่ต้องระวังการมีความสัมพันธ์ที่เกินเลย เรื่องความรักในวัยรุ่นที่ฉาบฉวย ไม่จริงจัง การสร้างครอบครัวเมื่อพร้อม วิธีพูดเมื่อต้องการปฏิเสธ วิธีการศึกษาคน คนที่ให้เกียรติเราจะแสดงออกทางพฤติกรรมอย่างไร การมีครอบครัวต้องมีความพร้อม เป็นต้น

 

พ่อแม่ไม่ควรแปลกใจที่ลูกจะไม่เข้าใจทั้งหมด การยอมรับการถามจะช่วยให้ลูกถามอีกเมื่อข้องใจ อย่าดุหรือมีท่าทีตกอกตกใจเมื่อลูกถาม ตอบให้ตรงคำถามที่ลูกอยากรู้ อย่าหลบ ถ้าไม่แน่ใจ เมื่อตอบแล้วให้ถามว่า เป็นคำตอบที่เขาต้องการหรือไม่ และอย่าพยายามบรรยายลึกซึ้งเกินจริง ให้พูดคุยอย่างเป็นกันเอง และพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนกับคุยเรื่องดินฟ้าอากาศหรือเรื่องการเรียนของลูก การสื่อสารควรเป็นแบบสองทาง อย่าพูดฝ่ายเดียว รับฟังและถามความคิดเห็นของลูกด้วย ข้อควรระวังคือถ้าลูกมีความเห็นไม่ตรงกับพ่อแม่ อย่าเพิ่งโกรธ ให้ถามเหตุผล ที่มาที่ไปที่ทำให้เขาคิดเช่นนั้น แล้วค่อยๆ พูดโน้มน้าวจูงใจ อาจยังไม่เห็นผลในทันที แต่การพูดบ่อยๆ จะซึมซับเข้าไปในใจของลูกเอง

 

หากลูกไม่พร้อมต่อการพูดคุย จะทำอย่างไร พ่อแม่ต้องใจเย็น จงรอและบอกตัวเองไว้เสมอว่า ยิ่งพยายามบังคับ ลูกยิ่งต่อต้านและไม่เชื่อ พ่อแม่ต้องบอกความจริง ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ใช้คำบอกอวัยวะและหน้าที่ที่ถูกต้อง และพ่อแม่ควรเป็นที่ปรึกษาที่ดี โดยแสดงความรู้สึกและค่านิยมของตนให้ลูกรับรู้ ค้นหาความรู้สึกและค่านิยมของลูกจากการพูดคุย การเป็นที่ปรึกษาที่ดีไม่จำเป็นต้องยอมรับหรือเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่ลูกคิด แต่ต้องรับฟังอย่างสงบและไม่ใช้อารมณ์

 

หวังว่าพ่อแม่ที่กังวลใจในการดูแลลูกวัยรุ่นคงได้ความรู้นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดความรู้สึกขัดเขินในการพูดคุยกับลูกได้

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน