กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
สุดารัตน์ ธีระวร เรียบเรียง
ภาวะโลหิตจางเนื่องจากการขาดธาตุเหล็ก (iron deficiency anemia) หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดงในกระแสโลหิตต่ำกว่าปกติ อันเนื่องมาจากการขาดธาตุเหล็กที่จะใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดง เหล็กเป็นสารซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างฮีโมโกลบินของร่างกาย ปกติมีธาตุเหล็กอยู่ในร่างกายทั้งสิ้นประมาณ ๓-๕ กรัม โดยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและเพศ ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กวันละประมาณ ๑-๑.๒ มิลลิกรัมในชาย และ ๒-๒.๕ มิลลิกรัมในหญิงวัยเจริญพันธุ์
ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผลจากการขาดธาตุเหล็กทำให้ร่างกายมีภาวะซีด อ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ทำงานหรือเล่นกีฬาได้ไม่อึดเหมือนปกติ การขาดธาตุเหล็กยังส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร อันได้แก่ ลิ้นอักเสบ ภาวะกลืนลำบาก น้ำย่อยในกระเพาะอาหารลดลงทำให้เบื่ออาหาร เป็นต้น ถ้ามีภาวะขาดเหล็กอย่างเรื้อรังอาจพบเล็บงอขึ้นเป็นแอ่งคล้ายช้อนเรียกว่า เล็บรูปช้อนได้
ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดภาวะโลหิตจาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ วัยรุ่น สตรี หญิงตั้งครรภ์ เด็กต่ำกว่า ๒ ปี ผู้ย้ายถิ่น ลักษณะของการบริโภค เช่น ได้อาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามินซี ต่ำ และปัจจัยทางสังคมและกายภาพ เช่น ความยากจน โรคต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ในเด็กวัยก่อนเรียนถ้าร่างกายมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา ขณะที่เด็กในวัยเรียนจะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลด ในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือเพิ่มอัตราเสี่ยงการตายของมารดา ในขณะคลอดได้ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วและมีภาวะขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรงอาจทำให้โรคหัวใจมีอาการรุนแรงขึ้นและเกิดภาวะหัวใจวายได้