คุณกำลังมองหาอะไร?

ภา

ภาวะโลหิตจาง

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

04.10.2563
14
0
แชร์
04
ตุลาคม
2563

ภาวะโลหิตจาง

สุดารัตน์  ธีระวร เรียบเรียง

 

ภาวะโลหิตจางหรือภาวะซีด เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก  โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ภาวะโลหิตจางเกิดจากภาวะความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วน ประกอบของเม็ดเลือดแดงและมีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ตลอดจนแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอน      ไดออกไซด์ในร่างกาย  ภาวะโลหิตจางวัดจากทั้งฮีโมโกลบินและฮีมาโตคริท ในหญิงทั่วไปกำหนดว่าซีดเมื่อฮีมาโตคริทต่ำกว่า ๓๖ % ชาย ๓๙ %  ในขณะที่หญิงตั้งครรภ์กำหนดไว้ที่ต่ำกว่า ๓๓ %

 

ภาวะโลหิตจางเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ   ได้แก่

 

๑. เสียเลือดปริมาณมาก การเสียเลือดมากกว่า ๑ใน ๓ ของปริมาณเลือดทั้งหมดของร่างกาย จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ ซึ่งสาเหตุของการเสียเลือดในปริมาณมากนั้นได้แก่ อุบัติเหตุ แผลเรื้อรังในกระเพาะอาหาร ประจำเดือน

๒. มีการทำลายเม็ดเลือดแดงในปริมาณมากผิดปกติ เมื่อใดก็ตามที่ม้ามทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปริมาณที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนของเก่า ร่างกายจะมีจำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง ซึ่งสาเหตุหลักของภาวะดังกล่าวมักเกิดจากรูปร่างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ

๓.  ความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดแดง สาเหตุหลักคือ ขาดสารอาหาร อันได้แก่ ธาตุเหล็ก, วิตามินบี ๑๒ และกรดโฟลิก

ภาวะโลหิตจางที่พบได้บ่อยที่สุด  ได้แก่  ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่อยู่ในภาวะที่ต้องการธาตุเหล็กในปริมาณเพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงที่มีการเจริญเติบโตสูงสุดของทารกและวัยรุ่น ในหญิงตั้งครรภ์ ในสตรีให้นมบุตร  นอกจากนั้นจะพบใน ผู้ที่บริโภคอาหารที่ขาดธาตุเหล็กเป็นประจำ ผู้ที่การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการหลั่งของกรดเกลือ ( กรดไฮโดรคลอริก) ในกระเพาะอาหารลดลง , ภาวะท้องเสียเรื้อรัง และภาวะที่มีการสูญเสียเลือด ได้แก่ ช่วงมีประจำเดือน แผลในกระเพาะอาหาร

ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก จะทำให้เนื้อเยื่อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนลดลง และเอนไซม์ที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบทำงานได้ไม่เต็มที่ มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การเรียนรู้ และระดับพลังงานลดลง

เพื่อมิให้เกิดภาวะซีด จึงควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ ผักสีเขียวเข้ม ถั่วแห้ง เนื้อไม่มีมัน เครื่องใน ผลไม้แห้ง อัลมอนด์ สัตว์น้ำมีเปลือก(กุ้ง ปู หอย) หลีกเลี่ยงอาหารที่ยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก ได้แก่ ชา กาแฟ ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร การบริโภคแคลเซียมเสริมในปริมาณที่มากเกินไป

ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเป็นปัญหาสำคัญที่ควรป้องกันในคนทุกวัย เพราะคนที่ขาดธาตุเหล็กจะทำให้ความความสามารถในการเรียนรู้ สมรรถภาพและภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง การรับ ประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายจะช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างเม็ดเลือดแดงให้อยู่ในระดับปกติและป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้

 

๓. บริโภคอย่างไร ไม่ให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

สุดารัตน์  ธีระวร  เรียบเรียง

ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก  รวมทั้งประเทศไทย การป้องกันปัญหาโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเพื่อให้ได้ผลดีและยืนยาวควรใช้อาหารเป็นตัวป้องกัน เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ประชาชน การบริโภคที่ถูกวิธีเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยไม่ให้เกิดภาวะซีด  เนื่องจากอาหารบางตัวจะช่วยในการดูดซึมของธาตุเหล็ก ในขณะที่บางตัวขัดขวางการดูดซึม  เรามาดูกันว่า ควรบริโภคอย่างไร

แหล่งอาหารที่สำคัญของธาตุเหล็กแบ่งออกได้เป็นธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปของฮีม และธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปที่ไม่ใช่ฮีม

ธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปของฮีม พบในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู ปลา เป็ด ไก่ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ได้แก่ ตับหมู ตับวัว เลือดหมู เครื่องใน ไข่ เป็น ต้น ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ดีของธาตุเหล็ก เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ดี ถึงร้อยละ ๑๐-๓๐ โดยไม่ต้องอาศัยกรดเกลือในกระเพาะอาหารและวิตามินซีช่วยในการดูดซึม

ธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปที่ไม่ใช่ฮีม พบในพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะผักใบเขียวเข้ม ได้แก่ ผักกูด ผักแว่น ดอกโสน โหระพา มะเขือพวง ผักกะเฉด รวมทั้ง ธัญพืชได้แก่ ข้าว ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ซึ่งประชากรในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทยบริโภคธาตุเหล็ก จากพืชเป็นสำคัญ ปริมาณที่ร่างกายเราสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากพืชไปใช้ประโยชน์ได้นั้นมี เพียงร้อยละ 2-10

การดูดซึมของธาตุเหล็กที่ได้จากพืชยังขึ้นอยู่กับขึ้นอยู่กับสารอื่นที่มีในอาหารที่รับประทานในมื้อนั้น สารที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารที่สำคัญได้แก่ แทนนิน(tannin) ซึ่งพบในผลิตภัณฑ์ชา กาแฟ และผักรสฝาดต่างๆ ได้แก่ ผักกระถิน ขี้เหล็ก ใบเมี่ยง ไฟเตต (phytate) ซึ่งพบในอาหารที่มีส่วนประกอบของธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง ได้แก่ ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง ข้าวโพด นมถั่วเหลือง โดยทั้งแทนนินกับไฟเตตจะรวมตัวกันธาตุเหล็กให้อยู่ในรูปของสารประกอบเชิงซ้อนที่ทางเดินอาหารไม่สามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้

อาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม และ ผลิตภัณฑ์จากนม ยังส่งผลยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มนมพร้อมกับอาหารที่มีธาตุเหล็ก ในขณะที่วิตามินซี ซึ่งพบมากในผักและผลไม้สด ช่วยในการดูดซึมของธาตุเหล็กในอาหารจากพืชผักได้สูงถึงร้อยละ 50

จะเห็นว่าอาหารที่คนไทยบริโภคมีสารที่ยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กสูง จึงควรเพิ่มปริมาณวิตามินซีในอาหารที่บริโภคเพื่อเพิ่มความสามารถของทางเดินอาหารในการดูดซึมธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น

 

  1. ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์

สุดารัตน์  ธีระวร  เรียบเรียง

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เม็ดเลือดแดงของคนเรามีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนได้ก็ด้วยสารตัวหนึ่งที่อยู่ภายในเม็ดเลือดที่ เรียกกันว่า “ฮีโมโกลบิน” และสิ่งสำคัญที่อยู่ในเฮโมโกลบินก็คือ “ธาตุเหล็ก” ผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก ทำให้ฮีโมโกลบินต่ำ ส่งผลทำให้เม็ดเลือดแดงมีปริมาณลดลง

ภาวะเลือดจาง คือการที่มีเม็ดเลือดแดงน้อย หรือที่คนทั่วไปบอกว่าโรคซีดนั่นเอง โดยปกติแล้วคนตั้งครรภ์จะมีการตรวจพบโลหิตจางเล็กน้อยได้ในช่วง ๓  เดือนสุดท้าย ซึ่งเกิดจากภาวะที่มีปริมาณน้ำเลือดหรือพลาสมาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เลือดจางกว่าปกติ (โดยที่จริงๆ แล้วปริมาณเม็ดเลือดไม่ได้ต่ำลง)  ทั้งนี้ในช่วง ๓  เดือนแรกของการท้องควรต้องมีระดับฮี โมโกลบินไม่ต่ำกว่า ๑๑  กรัมต่อเดซิลิตร และในช่วง ๖  เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ควรจะมีระดับไม่ต่ำกว่า ๑๐  กรัมต่อเดซิลิตร

ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ได้กำหนดโดยฮีโมโกลบินไม่ต่ำกว่า ๑๑   กรัมต่อเดซิลิตร หรือฮีมาโตคริทไม่ต่ำกว่า ๓๓ เปอร์เซนจากรายงานของกรมอนามัย ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในหญิงมีครรภ์ มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ   จากร้อยละ ๑๒.๖  ในปี ๒๕๔๒   เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒๐.๖  ในปี ๒๕๕๔  เมื่อมาดูในส่วนของภาคใต้ตอนล่าง พบว่าใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราภาวะซีดอยู่ในระดับสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ จากรายงานของศูนย์อนามัยที่ ๑๒ ยะลา ในปี ๒๕๕๖ จังหวัดปัตตานี หญิงตั้งครรภ์มีภาวะซีดร้อยละ ๑๘.๔  รองลงมาได้แก่ นราธิวาสและยะลา ร้อยละ ๑๗.๓ และ ๑๕.๑ ตามลำดับ

ภาวะโลหิตจางทำให้เหนื่อยง่าย ซึ่งปกติในคนท้องก็มักจะเหนื่อยง่ายอยู่แล้ว ต้องอุ้มลูกอุ้มรกที่อยู่ในท้อง เป็นน้ำหนักกว่าสิบกิโลกรัม หน้ามืด วิงเวียนง่าย และหากเป็นรุนแรง ตามรายงานมีอาการทางสายตา อาจมองภาพไม่เห็นได้ จากการที่เส้นประสาทตาบวม ในหญิงตั้งครรภ์หากเป็นปานกลางถึงรุนแรง การท้องก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดของทารก เช่น เด็กอาจมีการเจริญเติบโตช้ากว่าอายุครรภ์ อาจเกิดการแท้งบุตรได้ อาจทำให้น้ำหนักแรกคลอดของทารกต่ำกว่าปกติ และอาจทำให้เด็กเสียชีวิตตอนคลอดได้ ซึ่งอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเลือดน้อย ในอัฟริกาพบร้อยละ ๖.๗๓   เอเชียพบร้อยละ ๗.๒๖ และในละตินอเมริกาพบร้อยละ ๓ โดยในกลุ่มที่มีระดับเฮโมโกลบิน  ๔-๘ กรัมต่อเดซิลิตร มีความเสี่ยง ๑.๓๕  เท่าของคนตั้งครรภ์ปกติ แต่หากมีเฮโมโกลบินต่ำกว่า ๔  กรัมต่อเดซิลิตร มีความเสี่ยงสูงถึง ๓.๕๑  เท่า

 

 

๕. การเกิดภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์

 

สุดารัตน์  ธีระวร เรียบเรียง


ปกติในเม็ดเลือดแดงจะมี “ฮีโมโกลบิน” สารโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งในเวลาที่หายใจเข้า ฮีโมโกลบินจะทำหน้าที่นำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมถึงถ่ายออกซิเจนไปสู่รกเพื่อให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ของแม่และลูกในท้องทำหน้าที่ได้ตามปกติ ภาวะ เลือดจาง เกิดจากการที่ฮีโมโกลบินต่ำกว่าปกติ หรือมีเม็ดเลือดแดงปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ ได้ไม่ดี ซึ่งในช่วงตั้งท้องจะมีเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่าในภาวะปกติ ทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดลง โดยระดับของฮีโมโกลบินในช่วงตั้งท้องจะค่อยๆ ลดลงอยู่ และจะกลับสู่ค่าปกติหลังคลอดลูกแล้วประมาณ ๖ สัปดาห์  ขณะตั้งครรภ์ต้องระวังไม่ให้ระดับฮีโมโกลบินต่ำกว่า ๑๑ กรัมเปอร์เซ็นต์ เพราะจะทำให้เกิดภาวะเลือดจาง และหากเป็นมากก็จะอันตรายต่อแม่และลูกในท้อง สาเหตุที่พบส่วนใหญ่  ได้แก่
๑. ขาดธาตุเหล็ก

๒.  ขาดกรดโฟลิค เพราะกินอาหารไม่ครบถ้วน เช่น ไม่กินผักสด หรือพืชประเภทถั่ว
๓.    สูญเสียเลือดขณะตั้งครรภ์ เช่น มีภาวะรกเกาะต่ำ ทำให้เลือดออกทางช่องคลอดเป็นระยะๆ
๔.   เป็นพาหะหรือมีพันธุกรรมแฝงของธาลัสซีเมีย โดยสถิติ คนไทยเป็นพาหะของโรคนี้กันค่อนข้างมาก
๕. มีความผิดปกติของไขกระดูก แต่โรคนี้พบได้น้อย


การ วินิจฉัยว่า เป็นภาวะโลหิตจางหรือไม่ ต้องตรวจเลือดเพิ่มเติม หลังจากนั้นสูติแพทย์ก็จะรักษาอาการตามสาเหตุ ถ้าเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เพียงแค่เพิ่มธาตุเหล็กให้คุณแม่ พัฒนาการของทารกในครรภ์ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน ๑ สัปดาห์

อาการของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจาง
หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจาง จะหน้าซีด เหนื่อยง่าย เวียนหัวและเป็นลมบ่อยๆ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอและคลื่นไส้ เบื่ออาหาร
หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจางสูง  อาจทำให้แท้งและคลอดก่อนกำหนด หรือระยะการคลอดนาน เนื่องจากมดลูกบีบรัดตัวไม่ดี นอกจากนี้ยังอาจจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย หรือตกเลือดระหว่างคลอดอีกด้วย
จากการที่มีภาวะเลือดจางในขณะตั้งครรภ์  เลือดที่ไปเลี้ยงรกจะมีออกซิเจน น้อยกว่าปกติ ทำให้ออกซิเจนที่ส่งไปยังลูกมีน้อยกว่าจำนวนที่ควรได้รับซึ่งอาจทำให้เกิด อันตรายต่อลูกได้ คือ
๑.  ทารกมีโอกาสพิการแต่กำเนิดสูง
๒.   คลอดก่อนกำหนดและทารกน้ำหนักน้อย
๓.  ทารกเสียชีวิตในครรภ์
๔. ทารกคลอดออกมาแล้วเสียชีวิต
๕.  ทารกที่เกิดมาเป็นโรคเลือดจาง

 

๖. การป้องกันภาวะโลหิตจางในหญิงมีครรภ์

สุดารัตน์  ธีระวร เรียบเรียง

ก่อนตั้งครรภ์ ควรมีการตรวจเช็คร่างกายก่อนว่ามีภาวะเลือดจางหรือไม่ ถ้าเป็นเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กก็ควรกินอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้วควรรีบไปฝากครรภ์เพื่อให้คุณหมอตรวจว่ามีภาวะเลือดจาง หรือไม่

ส่วนใหญ่แล้วแม่ท้องที่เลือดจางนานๆ ระหว่างตั้งครรภ์มักเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ต้องกินยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กและวิตามินเสริม   กินตลอดระยะที่ตั้งครรภ์และ ๖  สัปดาห์หลังคลอด สำหรับแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ควรจะได้รับธาตุเหล็กไปจนถึง ๖  เดือนหลังคลอด เพื่อไม่ให้ร่างกายของแม่ขาดธาตุเหล็กและเกิดภาวะเลือดจาง รวมทั้งต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอพักผ่อนให้เพียงพอ และหากมีโรคต่างๆ ที่อาจทำให้เสียเลือด ก็ควรรีบไปปรึกษาหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อลดการเสียเลือด

หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะโลหิตจาง ก็จำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กเช่นเดียวกัน การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามปกติ ไม่สามารถชดเชยธาตุเหล็กให้เพียงพอกับพัฒนาการของลูกในท้อง เพราะธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่ร่างกายดูดซึมได้น้อย เพียงร้อยละ 10 ของปริมาณที่กินเข้าไปเท่านั้น ควรกินวิตามินเสริมที่มีปริมาณธาตุเหล็กอย่างน้อย 60-70 มิลลิกรัมต่อวันจึงจะเพียงพอ

อาหารที่หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานเพื่อเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกาย

๑.   โปรตีนจากเนื้อสัตว์ นอกเหนือจากเนื้อหมู ไก่ ไข่ และนมแล้ว หญิงตั้งครรภ์ควรกินปลาและอาหารทะเลสัปดาห์ละ ๒-๓   ครั้ง
.  โปรตีนจากพืช ได้แก่ ถั่วต่างๆ และผลิตผลจากถั่ว เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร

.  ธัญพืช ผัก และผลไม้ เช่น ข้าวกล้อง จมูกข้าว แครอท แคนตาลูป ฟักทอง บร็อคโคลี ผักคะน้า
๔.  กินอาหารที่มีกากใยร่วมด้วย เพราะธาตุเหล็กจะทำให้ถ่ายยากและอุจจาระดำ

 

นอกจากการรับประทานยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กตามที่แพทย์แนะนำและการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก หญิงตั้งครรภ์ควรมาตรวจครรภ์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงทั้งในเรื่องของภาวะโลหิตจางและเรื่องอื่น ๆ  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมาค่ะ

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน