กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
บทความเรื่อง...อยากให้น้องหายไปจากชีวิต
พญ. นงลักษณ์ สุรจิตศกลรัตน์
กุมารแพทย์ชำนาญการพิเศษ
ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา
ช่วงนี้ บางท่าน อาจได้ชมคลิปวิดีโอ ที่แชร์กันในโลกออนไลน์ เป็นคลิปเรียกน้ำตาสำหรับผู้ที่ได้รับชมเลยทีเดียว พี่น้องสองคนเป็นเด็กผู้หญิงทั้งคู่ พี่สาวดุ และตีน้อง ทำโทษที่ทำตุ๊กตาเสียหาย แล้วคุณแม่ก็มาเห็นพอดี ตอนพี่ตีน้อง พี่สาวจึงถูกคุณแม่ดุว่า และตี ด้วยความโกรธ พี่สาวก็มองดูน้องอย่างโกรธแค้น ส่วนน้องสาวมองดูพี่อย่างเย้ยหยัน จวบจนโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องอยู่บ้านเดียวกันสองคน เพราะคุณแม่เสียชีวิตไปแล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ จนบางครั้งพี่สาวอยากให้น้องหายไปจากโลกนี้ หายไปจากชีวิตของเขา ต่อมาพี่สาวตรวจร่างกายพบว่าเป็นมะเร็งขั้นร้ายแรง ต้องได้รับเคมีบำบัดจนผมร่วง ร่างกายทรุดโทรม น้องสาวได้กลับมาดูแล และบริจาคผมให้
เราได้ชมวิดีโอ ที่ซาบซึ้งหลากหลาย บางคนกด Like ให้ แล้วก็ลืมไป แต่ถ้าเราได้นำมาศึกษาเรียนรู้ และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะได้ประโยชน์มาก วิดีโอข้างต้นนี้ เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่คุณแม่ที่จะต้องมีความเข้าใจลูกๆ เมื่อเขามีปัญหาทะเลาะกัน คุณแม่ได้ควบคุมอารมณ์ของตัวเองดีเพียงไร ได้สังเกตและ สอบถามข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินว่าใครผิด ใครถูก เมื่อลงโทษไม่เหมาะสม หรือเกิดความลำเอียง ก็จะทำให้เกิดความไม่พอใจ สะสมมากขึ้นๆ ในใจของลูกๆ จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเรื่องจะเปลี่ยนใหม่ โดยคุณแม่แยกทั้งคู่ออกจากกัน ถามที่มาที่ไปของการตีน้อง รับฟังอย่างสงบ แนะนำวิธีการสอนน้องอย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องตีน้อง สอนการเป็นพี่ ก็ต้องดูแลน้อง ส่วนน้องก็ต้องเชื่อฟังพี่ บอกให้ลูกได้รู้ว่า คุณแม่รักลูกทั้งสองคน และแม่ดีใจมากที่ลูกๆ รักใคร่กันดี เมื่อมีลูกคนแรก คุณพ่อคุณแม่ดีใจ ทุกคนในบ้านดีใจ ลูกคนนี้ได้รับความรักอย่างเต็มที่จากทุกคน แต่เมื่อต้องมีน้อง ก็เหมือนมีคนมาแบ่งส่วนไป ถ้าผู้ใหญ่วางตัวไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่รุนแรงได้ และอาจไม่จบแบบซาบซึ้งเหมือนในคลิปวิดีโอนี้ เมื่อมีน้องใหม่ คุณแม่ยุ่งกับน้องคนใหม่มาก ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกคนแรก
เหมือนเดิม ทำให้เด็กเครียด พี่อาจมีปฏิกิริยาต่างๆ ที่ไม่ดี เช่น เรียกร้องความสนใจมากขึ้น ดื้อมากขึ้น ตีน้อง ไม่กินข้าว ปัสสาวะรดที่นอน ดังนั้นเมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์น้องคนใหม่ จึงควรเตรียมตัวพี่ให้พร้อมก่อน ฝึกหัดให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ดีเหมาะสมกับวัย เมื่อคุณแม่ยุ่งกับน้อง ไม่มีเวลาดูแลเขาได้เต็มที่ เขาจะได้ไม่เครียดมาก นอกจากนี้อาจคุยให้ฟังเกี่ยวกับน้องที่อยู่ในท้อง และข้อดีของการมีน้อง
เมื่อคุณแม่คลอดน้องแล้ว คุณพ่อคุณแม่ ต้องแสดงให้เขารู้ว่า ยังรักเขาเหมือนเดิม และควรมีเวลาที่เขาจะมี คุณพ่อคุณแม่เป็นของเขาคนเดียว เช่น เล่านิทานให้ฟังในช่วงที่เขาเข้านอน ซึ่งในช่วงนั้นน้องหลับไปแล้ว เมื่อคุณพ่อ กลับจากที่ทำงาน ต้องไปหาเขาก่อน แล้วจึงชวนกันไปดูน้อง สอนวิธีจับน้องที่ถูกต้อง อาจคุยให้ฟังว่า น้องยังเล็ก บอบบาง ต้องจับแบบนุ่มนวล เป็นพี่ต้องดูแลน้อง และเมื่อเขาทำถูกต้อง เหมาะสม ก็ชมเชยให้เขารู้ ถ้าพี่อยากอุ้มน้อง ก็สามารถให้อุ้มได้ โดยคุณแม่อุ้มเขาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าคุณพ่อคุณแม่ ได้เตรียมตัวพี่อย่างดีแล้ว ก็จะสามารถลดปัญหาต่างๆไปได้มาก การสื่อสารกันในครอบครัวอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้เกิดความสุขในครอบครัว