คุณกำลังมองหาอะไร?

มาลดขยะ...กันเถอะ!!!”

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

04.10.2563
58
0
แชร์
04
ตุลาคม
2563

“มาลดขยะ...กันเถอะ!!!”

โดย... นางสาวกัญญาณัฐ  ใจห้าว

นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ

กลุ่มงานพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 12

…………………………………………………………………………………………………………………………………….

“คิดแต่แยกโดยไม่ลด แล้วขยะจะหมดได้อย่างไร?” เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ขยะ” ทุกคนที่ได้ยินจะวาดภาพขยะๆไปต่างๆนานา อาจจะนึกถึงกองขยะที่มีกลิ่นเหม็น แมลงวันบินเต็มไปหมด นึกถึงกองเศษวัสดุหักพัง เศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ หรืออาจนึกถึงสิ่งประดิษฐ์หลากหลายที่ทำมาจากสิ่งของที่เป็นขยะ แต่ที่แน่ๆ ขยะ ก็คือ สิ่งที่คนเราสร้างขึ้นหรือก่อให้เกิดขึ้น นับวันจะเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเรามากขึ้นทุกวัน ทุกคนผลิตขยะออกมามากมายจนเป็นปัญหาในการกำจัด

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกๆปี จากประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือ 15.16 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2553 เป็นประมาณ 73,342 ตันต่อวัน หรือ 26.77 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2556 ลองคิดดูง่ายๆในปี 2557 นี้ ปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่  ทุกวันนี้คนไทยกว่า 66 ล้านคน สามารถสร้างขยะได้มากถึง 26 ล้านตันต่อปี แต่ความสามารถในการจัดเก็บขยะกลับมีไม่ถึง 70 % ของขยะที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดปริมาณขยะตกค้าง ตามสถานที่ต่างๆ หรือมีการนำไปกำจัดโดยวิธีกองบนพื้นซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา คงถึงเวลาแล้วนะค่ะ ที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันลดปริมาณขยะ

การแยกขยะอาจช่วยเราได้ แต่ขยะทุกชิ้นใช่ว่าจะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดที่เหลือก็ยังคงเป็นปัญหาต่อไป  เพราะฉะนั้นพวกเราจะช่วยกันลดจำนวนขยะได้อย่างไร? สามารถทำได้ง่ายๆค่ะ โดยยึดหลัก 4R ในการเลือกซื้อสินค้า และการรู้จักใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า ก่อนทิ้งไปเป็นขยะ

R ตัวแรก Reduce คือ ลดการใช้สินค้าทำจากวัสดุหายาก หรือยากต่อการทำลาย เช่น โฟมบรรจุอาหาร อาจใช้ใบตองหรือใบบัวแทน, ใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าใส่ของแทนถุงพลาสติก, หันมาใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดปากแทนกระดาษทิชชู, เลือกใช้ถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่ที่สามารถบรรจุไฟได้ใหม่, หลีกเลี่ยงปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงที่มีสารเคมีมีฤทธิ์ตกค้างทำลายสิ่งแวดล้อม

ตัวที่สอง Reuse ใช้ซ้ำให้คุ้มค่า นำมาดัดแปลงหรืออาจยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น กระดาษ 1 แผ่น ใช้ครบทั้ง 2 หน้า แล้วเก็บไว้ขาย, เสื้อผ้าใช้เบื่อหรือคับแล้ว ดัดแปลงเป็นถุงผ้า ผ้าเช็ดมือ, ยางรถยนต์ดัดแปลงทำเป็นถังขยะหรือชิงช้านั่งเล่นได้

ตัวที่สาม Repair ซ่อมแซมสิ่งของชำรุด แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือแยกชิ้นส่วนที่ใช้ได้เก็บไว้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ที่โยกหรือหักพังซ่อมแซมใหม่ให้แข็งแรง, เสื้อผ้าที่ชำรุดซ่อมแซมใช้ต่อได้อีก พัดลมหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียให้เก็บชิ้นส่วนที่ยังใช้ได้ไว้ซ่อมแซมเครื่องอื่นๆต่อไป

ตัวสุดท้าย Recycle วัสดุบางอย่าง เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก เก็บรวบรวมแล้วแยกแต่ละประเภทออกจากกัน เพื่อขายให้โรงงานนำไปผลิตเป็นสินค้าตัวใหม่ เศษอาหารแยกไปเป็นอาหารสัตว์หรือทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมักชีวภาพใส่ต้นไม้แทนการใช้ปุ๋ยเคมี

ทราบหรือไม่ว่า ขยะบางจำพวกต้องใช้เวลาในการกำจัดและย่อยสลายนานมาก เช่น โฟม มีระยะเวลาย่อยสลาย 500 – 1,000 ปี, ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 500 ปี, ถุงพลาสติก 100 – 450 ปี, อะลูมิเนียม 80 – 100 ปี, เครื่องหนัง 25 – 40 ปี, ก้นบุหรี่ 12 ปี ขยะจำพวกนี้หากหลีกเลี่ยงได้ก็ช่วยกันลดนะค่ะ

 

การลดขยะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ พวกเราทุกคนสามารถทำได้อยู่ที่ความตั้งใจและการลงมือทำ ทำให้เป็นนิสัย ลงมือกันตั้งแต่วันนี้และชักชวนคนใกล้ตัว ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเรา ซึ่งจะทำให้ครอบครัว และสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วยนะค่ะ “คิดทุกครั้งก่อนใช้ คิดทุกครั้งก่อนทิ้ง บางสิ่งอาจใช้ซ้ำได้”

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน