กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กรมอนามัย แนะ โรงเรียนทำความสะอาด โรงอาหาร โรงครัว ตู้น้ำดื่ม ต้อนรับเด็กเปิดเทอม
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำ ให้โรงเรียนทำความสะอาด โรงอาหาร โรงครัว และตู้น้ำดื่มให้ถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร เตรียมพร้อมให้บริการนักเรียนในวันเปิดเทอม เพื่อสุขอนามัยที่ดี
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงปิดเทอม โรงอาหารของโรงเรียนต่างๆ จะถูกปิดไว้ไม่ได้ใช้งานและไม่ได้ทำความสะอาดเป็นประจำ วัสดุอุปกรณ์ในการทำครัวจะถูกเก็บรักษาไว้ภายในห้องครัวหรือบริเวณโรงอาหาร ทั้งคว่ำ แขวน หรือใส่ตู้เก็บไว้ เนื่องจากโรงอาหารส่วนใหญ่เป็นโรงอาหารแบบเปิดทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น หยากไย่ รวมทั้งอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ เช่น นก หนู และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ แมลงนำโรคได้ โรงเรียนควรทำความสะอาดโรงอาหาร โรงครัว ตู้น้ำดื่ม รวมไปถึงเครื่องใช้ในครัวและในโรงอาหารทั้งหมดก่อนเปิดเทอม โดยเริ่มจากที่สูงก่อน ได้แก่ ฝ้าเพดาน ผนัง โดยใช้ไม้กวาดด้ามยาว ปักกวาด หยากไย่ ใยแมงมุม รังนก ฯลฯ ออกให้หมด แล้วจึงกวาดและล้างพื้นด้วยน้ำและผงซักฟอก เพื่อกำจัดคราบสกปรก กวาดขยะ เศษอาหารตามทางระบายน้ำ จากนั้น ฆ่าเชื้อโรคโดยผสมผงปูนคลอรีน 60 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 20 ลิตร ใส่ในฝักบัวรดให้ทั่วพื้นห้องครัวและโรงอาหาร โดยเฉพาะบริเวณรางระบายน้ำ บริเวณที่ตั้งถังขยะ โต๊ะเตรียมปรุง และบริเวณหน้าเตา ส่วนภาชนะ อุปกรณ์ทั้งหมดต้องนำมาล้างใหม่แล้วตากแดดให้แห้งหรือแช่น้ำผสมผงปูนคลอรีนตามอัตราส่วนที่กล่าวไว้ข้างต้นนาน 2 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนนำมาใช้ รวมทั้ง ตรวจสภาพ ซ่อมแซมสภาพของอ่างล้างวัตถุดิบ อ่างล้างภาชนะ อ่างล้างมือ ให้พร้อมใช้งานได้เสมอ ส่วนโต๊ะ เก้าอี้สำหรับนั่งรับประทานอาหารให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้สะอาดจากนั้นนำไปตากแดดหรือผึ่งให้แห้ง
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับตู้น้ำดื่มของโรงเรียนนั้น หากเป็นถังน้ำหรือแทงค์น้ำที่ใช้บรรจุน้ำดื่มควรตรวจสอบดูความสะอาดของถัง หากพบว่าไม่สะอาดหรือไม่ได้ทำความสะอาดมามากกว่า 6 เดือนแล้ว ให้ทำความสะอาดด้วยการปล่อยน้ำที่เหลือออก ทำการขัดล้าง คราบตะกอนในถังให้สะอาด ฉีดน้ำล้างออกให้หมด จากนั้นฆ่าเชื้อโรคด้วยการแช่น้ำผสมคลอรีนตามอัตราส่วนข้างต้น นาน 2 นาที ก่อนที่จะใส่น้ำสะอาดสำหรับดื่ม และหากเป็นตู้น้ำแบบกด ให้เน้นทำความสะอาด ทั้งภายในและภายนอกตู้ รวมถึงบริเวณที่ตั้งตู้ด้วย โดยเฉพาะบริเวณก๊อกน้ำและรางน้ำ ส่วนภายในตู้บรรจุน้ำต้องขัดคราบสกปรก ตะกอนและใช้น้ำสะอาดล้างออกให้หมด จากนั้นฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนเหมือนเดิม ในกรณีที่เป็นตู้น้ำดื่มแบบถังคว่ำต้องล้างทำความสะอาดตู้ภายในให้สะอาดและฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ส่วนถังน้ำต้องทำความสะอาดถังก่อนทุกครั้ง และหากมีเครื่องกรองน้ำ ต้องตรวจดูว่าครบตามระยะเวลาที่ต้องล้างเครื่องกรองหรือเปลี่ยนไส้กรอง วัสดุกรอง ตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือไม่ โดยศึกษาจากคู่มือ ที่สำคัญหากใช้ตู้น้ำดื่มที่ใช้ไฟฟ้า ต้องตรวจเช็คการชำรุด บกพร่อง ของระบบไฟฟ้าที่ใช้ ตรวจเช็คไฟฟ้ารั่วตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณก๊อกน้ำที่ถือเป็นจุดเสี่ยง เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดนักเรียนในขณะใช้งาน
“ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2557 พบว่า มีโรงอาหารของสถานศึกษาได้รับการรับรองมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารทั้งระดับดีและดีมากเพียงร้อยละ 22.22 ส่วนมากจะเป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนสถานศึกษาทั่วประเทศ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2557 มีสถานศึกษาทั่วประเทศ 38,069 แห่ง และอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) 30,922 แห่ง โรงอาหารของโรงเรียน จึงควรได้มาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารสำหรับโรงอาหารของกรมอนามัย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 4 พฤษภาคม 2559