คุณกำลังมองหาอะไร?

รมอนามัย จับมือ ภาคีเครือข่ายพัฒนาฟิตเนสและสวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกายต้นแบบ เน้นปลอดภัย ได้มาตรฐาน

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

04.10.2563
6
0
แชร์
04
ตุลาคม
2563

กรมอนามัย จับมือ ภาคีเครือข่ายพัฒนาฟิตเนสและสวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกายต้นแบบ เน้นปลอดภัย ได้มาตรฐาน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้ได้มาตรฐานต้นแบบ ส่งเสริมคนไทยออกกำลังกายมั่นใจ ปลอดภัย

วันนี้ (22 มิถุนายน 2559) นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนการพัฒนาสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และมอบป้ายเกียรติยศสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกรมอนามัย ณ ห้องประชุมเรนโบว์ฮอลล์ โรงแรมใบหยกสกาย กรุงเทพมหานคร ว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสถานบริการออกกำลังกายขึ้น ซึ่งใน ปี 2557 ที่ผ่านมา มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานสถานบริการออกกำลังกายระหว่าง กรมอนามัยและสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ จำนวน 18 แห่ง และสวนสาธารณะ จำนวน 15 แห่ง เพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกรมอนามัย และยกระดับคุณภาพสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานกรมอนามัย ต่อมาในปี 2558 มีการประเมินและให้คำแนะนำสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้พัฒนาตามเกณฑ์ฯ และในปี 2559 นี้ ได้มอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ในการพัฒนาให้เป็นต้นแบบ จำนวน 33 แห่ง ใบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทรงคุณวุฒิ ทีมีคุณประโยชน์ ในการพัฒนามาตรฐานสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกรมอนามัย จำนวน 11 ท่าน และมอบป้ายเกียรติยศสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพต้นแบบจำนวน 33 แห่ง

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า สถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหรือฟิตเนสเซ็นเตอร์ และสวนสาธารณะเพื่อการ ออกกำลังกาย ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย 1) มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารและคุณลักษณะภายในมีความมั่นคง แข็งแรง เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมอาคาร 2) มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย เช่น มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาด และพร้อมใช้งานทุกวัน 3) มาตรฐานการให้บริการ เช่น จัดทำป้ายคำแนะนำ/คำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน 4) มาตรฐานด้านบุคลากร ผู้ให้บริการ เช่น บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ต้องมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือพลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (Instructor Exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา และ 5) มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนมาตรฐานสวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกายประกอบด้วย 1) มาตรฐานด้านบริหารจัดการ 2) มาตรฐานด้านการตอบสนองผู้ใช้บริการ และ 3) มาตรฐานด้านกายภาพ

การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการพัฒนาสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีชัยนาท เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลนครสกลนคร เทศบาลนครอุดรธานี สถานบริการ ออกกำลังกายลีดเดอร์สเวลเนส และบริษัทพีค ฟิตเนส จำกัด ในการถอดบทเรียนซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสถานบริการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์กรมอนามัย ตลอดจนการพัฒนารูปแบบการออกกำลังกายและการออกกำลังกายเพื่อการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสุขภาพต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/22 มิถุนายน 2559

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน