คุณกำลังมองหาอะไร?

รมอนามัยผนึกภาคีจังหวัดมหาสารคาม ตั้ง “สารคามโมเดล” พัฒนาระบบเกลือเสริมไอโอดีนยั่งยืน

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

04.10.2563
4
0
แชร์
04
ตุลาคม
2563

กรมอนามัยผนึกภาคีจังหวัดมหาสารคาม ตั้ง “สารคามโมเดล” พัฒนาระบบเกลือเสริมไอโอดีนยั่งยืน

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันไอโอดีนแห่งชาติปี 2559 หนุนภาคีผู้ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดมหาสารคาม จัดตั้ง “สารคามโมเดล” หวังพัฒนาระบบเกลือเสริมไอโอดีนยั่งยืน ลดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในพื้นที่                     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ

วันนี้ (24 มิถุนายน 2559)  นายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ “ประชาร่วมใจขจัดโรคขาดสารไอโอดีน สู่วิถีความยั่งยืน” ณ โรงแรมตักศิลา จังหวัดมหาสารคาม ว่า คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบให้ทุกวันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมา        กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักของกระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ ตระหนัก และร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เนื่องจากปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนมีผลกระทบร้ายแรงต่อการพัฒนาสมองของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตลอดจนถึงช่วงระยะทารกแรกเกิดและเด็กปฐมวัยที่ถือเป็นช่วงวัยทองของการพัฒนาสติปัญญาและไอคิวของเด็กไทยรวมทั้งประชากรทุกกลุ่มวัยก็ได้รับผลกระทบจากการขาดสารไอโอดีนด้วยเช่นกัน  ซึ่งการรณรงค์ในปีนี้เป็นการบูรณาการงานร่วมกันในหลายภาคส่วนโดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย     ความร่วมมือพัฒนาระบบเกลือเสริมไอโอดีนยั่งยืนภายใต้รูปแบบ “สารคามโมเดล” ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดมหาสารคาม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี ประธานชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประชารัฐ โดยบูรณาการงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนตามมาตรการนโยบาย     เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า (Universal Salt Iodization) เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ครอบคลุม ทั่วถึง และเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันไม่เกิน 1 ช้อนชา

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีน   ในระดับครัวเรือนจะต้องมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป แม้ว่าผลจากการดำเนินงานเฝ้าระวังและติดตามภาวะขาดสารไอโอดีน  ในประเทศไทย พบความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในระดับครัวเรือนร้อยละ 95.3 (มากกว่า 20 พีพีเอ็ม) แต่ที่ได้มาตรฐานตามกฎหมาย (20-40 พีพีเอ็ม) เพียงร้อยละ 78.9 ซึ่งแม้ว่าแนวโน้มความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนจะดีขึ้นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ยังคงต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การพัฒนาระบบเกลือเสริมไอโอดีนยั่งยืนภายใต้รูปแบบสารคามโมเดล จึงต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลักสำคัญคือ 1) การผลิตที่เพียงพอทั่วถึงครอบคลุมและ     มีคุณภาพ 2) การกระจายที่ต้องมีระบบการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังเกลือที่กระจายไปสู่ร้านค้า ชุมชน ต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเท่านั้น และ 3) ประชาชนต้องมีความรู้ ตระหนัก และให้ความสำคัญกับการได้รับสารไอโอดีนจากการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ลดช่องว่างของการประสานงาน ให้เกิดผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“ทั้งนี้ การส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้าที่มีผลให้เกลือบริโภคทุกชนิด รวมทั้งที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีนนั้น จะถือเป็นมาตรการหลักของกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายในการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแล้ว ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร ผลิตภัณฑ์จากการย่อยโปรตีนถั่วเหลือง เช่น ซีอิ๊วและซอสปรุงรส ต้องมีไอโอดีนในอัตราส่วนที่กำหนดด้วย นอกจากนี้ กรมอนามัยยังมีมาตรการเสริมเฉพาะพื้นที่โดยการเสริมไอโอดีนในน้ำดื่มดำเนินการเฉพาะโครงการส่งเสริมโภชนาการเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และมาตรการเสริมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายโดยส่งเสริมสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดบุตร   6 เดือนทุกคน หรือร้อยละ 100 ได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีนและกินติดต่ออย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกชุมชน/หมู่บ้านเป็นชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนอย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด  

***

สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 24 มิถุนายน 2559

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน